แนวทางทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่จะขายผ่าน LINE SHOPPING สำหรับผู้ค้า

LINE SHOPPING

แนวทางทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่จะขายผ่าน LINE SHOPPING สำหรับผู้ค้า

ไลน์ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัทในเครือ ในฐานะผู้แทนจัดจำหน่าย (ต่อไปนี้จะเรียกรวมกันเรียกว่า “ไลน์”) จัดให้มีบริการ LINE SHOPPING ("LINE SHOPPING") ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ (e-commerce platform) โดยผู้ค้าที่เป็นบุคคลภายนอก ("ผู้ค้า") สามารถลงทะเบียนใช้งาน LINE SHOPPING เพื่อแสดงรายการและขายสินค้าหรือบริการของตนให้แก่ลูกค้าปลายทางได้

สินค้าทั้งหมดที่ขายผ่าน LINE SHOPPING ล้วนมาจากผู้ค้า ไลน์ไม่มีร้านค้าเป็นทางการของตนเอง และ/หรือสินค้าหรือบริการที่เป็นทางการของไลน์ ที่ขายผ่าน LINE SHOPPING

1. ใบอนุญาตของผู้ค้า

ผู้ค้าควรมีใบอนุญาตดังต่อไปนี้

1.1 ใบทะเบียนพาณิชย์ (ต้องได้รับก่อนเริ่มขายสินค้าผ่าน LINE SHOPPING)

ผู้ค้าที่ทำการค้าผ่าน LINE SHOPPING เป็นผู้ค้าที่ทำการขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะต้องได้รับใบทะเบียนพาณิชย์

1.2 ใบอนุญาตประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

ผู้ค้าต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงและปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยหน้าที่สำคัญ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเฉพาะหน้าที่ดังต่อไปนี้

• (1) จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่มีข้อความภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่ายและ (2) ส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อพร้อมกับสินค้าหรือบริการ โดยระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขาย และวันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิของผู้ซื้อในการเลิกสัญญา ซึ่งสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป

• หน้าที่ในการคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้ซื้อจ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้าหรือบริการเมื่อผู้ซื้อเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ

1.3 ใบอนุญาตเฉพาะสำหรับการขายสินค้า

สำหรับสินค้าและ/หรือบริการบางประเภท มีข้อกำหนดตามกฎหมายบางประการก่อนที่จะขายในประเทศไทย เช่น ขอรับอนุญาต/ใบอนุญาต/การตรวจสอบ/การอนุมัติ จากหน่วยงานก่อนที่จะขายในประเทศไทย โปรดดูรายการในข้อ 2.1

2. ข้อจำกัดเกี่ยวกับสินค้าที่ผู้ค้าจะขาย

2.1 สินค้าและบริการต้องห้าม/มีข้อจำกัด/ควบคุม

สินค้า/บริการบางประเภทเป็นสินค้า/บริการที่ผิดกฎหมายและต้องห้ามในประเทศไทย ในขณะที่สินค้า/บริการบางประเภทเป็นสินค้า/บริการที่มีข้อจำกัดและควบคุมในการขายในประเทศไทย

ตัวอย่างสินค้าและ/หรือบริการที่ผิดกฎหมาย ต้องห้าม มีข้อจำกัด และควบคุม มีดังนี้

สินค้าต้องห้ามหรือผิดกฎหมาย (ไม่สามารถขายได้ในประเทศไทย)

(1) สินค้าต้องห้ามตามพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495

(2) สินค้าต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ("พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค")

ตัวอย่างเช่น เครื่องต้มน้ำไฟฟ้าที่ทำให้น้ำร้อนโดยผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในน้ำโดยตรง หรือเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือย ลวดดัดฟันแฟชั่น (ลวดจัดฟันแฟชั่น) เครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมของตะเข็บถังน้ำ หรือท่อส่งน้ำ ภาชนะสำหรับปรุงหรือบรรจุอาหารที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อ อุปกรณ์ไฟฟ้าช็อตสำหรับแกล้งคน ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ บุหรี่ไฟฟ้า และหม้อสูบยาแบบอาหรับหรือบารากู่ (ท่อฮุกกา)

(3) สินค้าสำหรับผู้ใหญ่และลามกอนาจาร

ตัวอย่างเช่น เอกสาร แบบร่าง สิ่งพิมพ์ ภาพวาด รูปภาพ โปสเตอร์ สัญลักษณ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ที่มีภาพลามกอนาจาร และสินค้าเกี่ยวกับเรื่องเพศ

(4) สินค้าเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

ตัวอย่างเช่น ธงชาติหรือตราสัญลักษณ์แสดงถึงรัฐเพื่อดูหมิ่นประเทศชาติ

(5) ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทบางประเภท

ตัวอย่างเช่น เฮโรอีน ฝิ่น และออกซิโคโดน

(6) การค้าประเวณีและค้ามนุษย์

ตัวอย่างเช่น การเสนอตัวเองและ/หรือบุคคลอื่นเพื่อค้าประเวณี

(7) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าบางประเภท

(8) เงินปลอมและ/หรือการขายเงิน

(9) ซากศพและชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์

(10) บริการต้องห้าม

(11) ทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรม

สินค้าที่มีข้อจำกัดหรือควบคุม (ขายในประเทศไทยได้โดยมีเงื่อนไข)

(1) ยาสูบ

ตัวอย่างเช่น ก้อนยาสูบ ยาเส้นไปป์ บุหรี่ซิกาแรต ซิการ์ ยาเส้นและยาเส้นปรุง และยาสูบชนิดเคี้ยว

(2) ยา

ตัวอย่างเช่น ยาแผนปัจจุบัน และยาแผนไทย เช่น มะแว้งเครือ (Solanum Trilobatum) กระชายดำ (Keampferia Parvifrora) และว่านชักมดลูก (Curcuma Comosa)

(3) เครื่องมือแพทย์

ตัวอย่างเช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องมือผ่าตัด ถุงยางอนามัย อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ และชุดทดสอบอสุจิ

(4) อาหารบางประเภท

ตัวอย่างเช่น อาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม อาหารผิดมาตรฐาน และอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค

(5) การพนัน

ตัวอย่างเช่น สลากกินแบ่ง สลากชิงโชค หวย และการจัดให้มีการละเล่นเสี่ยงโชค

(6) อาวุธยุทธภัณฑ์

ตัวอย่างเช่น อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด พลุ/ดอกไม้เพลิง อาวุธปืนปลอม

(7) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์

ตัวอย่างเช่น แผ่นดีวีดี และแผ่นบลูเรย์

(8) สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ตัวอย่างเช่น เบียร์ ไวน์ ว้อดก้า และเหล้ายิน

(9) เครื่องสำอาง

ตัวอย่างเช่น ลิปสติก มาสคารา อายไลเนอร์ และแป้งพัฟฟ์

(10) อาหารสัตว์

ตัวอย่างเช่น อาหารสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือสังคม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ หรืออาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเนื้อสัตว์โดยรวม ซึ่งจะกำหนดในอนาคต

(11) วัตถุอันตราย

ตัวอย่างเช่น วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ และวัตถุกัมมันตรังสี

(12) อุปกรณ์วิทยุคมนาคม

ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่

(13) สัญญา

(14) บัตรเครดิต

(15) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม

(16) อุปกรณ์เฝ้าระวังด้วยอิเล็กทรอนิกส์

(17) เอกสารราชการ หมายเลขประจำตัว และใบอนุญาต

(18) อุปกรณ์ปลดล็อค

(19) ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลเครดิต

(20) การตลาดแบบหลายชั้นหรือการขายตรง

(21) หุ้น หลักทรัพย์ และผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงิน

(22) ผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันภัย

(23) เครื่องจักรขนาดใหญ่

(24) ปิโตรเลียมและน้ำมัน

2.2 สินค้าและ/หรือบริการซึ่งละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น แผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ การให้บริการโดยใช้เครื่องหมายการค้าผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต นาฬิกาข้อมือเลียนแบบ กระเป๋าถือเลียนแบบ

2.3 สินค้าและ/หรือบริการซึ่งตามข้อตกลงกับบุคคลภายนอกแล้วไม่ควรนำมาขาย

ตัวอย่าง เช่น สินค้านำเข้าซ้อน สินค้าตามสัญญาจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว

2.4 หลักเกณฑ์อื่น ๆ

(1) โฆษณา

สำหรับสินค้าบริการที่ผู้ค้าจัดทำโฆษณา เนื้อหาในโฆษณาต้องไม่มีข้อความหรือข้อมูลซึ่งมีลักษณะต่อไปนี้

• เป็นข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง (เว้นแต่บุคคลโดยทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่า ข้อความโฆษณาดังกล่าวไม่อาจเป็นความจริงได้อย่างแน่แท้)

• เป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม

• ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ

• ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน หรือ

• ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค

(2) ฉลาก

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน สินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย และสินค้าบางประเภทที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เป็น "สินค้าที่ควบคุมฉลาก"

ฉลากของ "สินค้าที่ควบคุมฉลาก" จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

• ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริงและไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า

• ต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้

o ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตหรือของผู้นำเข้าเพื่อขายแล้วแต่กรณี

o สถานที่ผลิตหรือสถานที่ประกอบธุรกิจนำเข้า แล้วแต่กรณี

o ระบุข้อความที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้าให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย

o ต้องระบุข้อความอันจำเป็น ได้แก่ ราคา ปริมาณ วิธีใช้ ข้อแนะนำ คำเตือน วัน เดือน ปีที่หมดอายุในกรณีเป็นสินค้าที่หมดอายุได้ หรือกรณีอื่น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด

ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขายซึ่งสินค้าที่ควบคุมฉลาก แล้วแต่กรณี เป็นผู้จัดทำฉลากก่อนขายและฉลากนั้นต้องมีข้อความดังกล่าวข้างต้น

กรุณาตรวจสอบตัวอย่างสินค้าต่อไปนี้ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดให้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากเพื่อท่านใช้อ้างอิงต่อไป

 

 

 

1. เครื่องทำน้ำร้อน

21. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว

41. ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน

2. แปรงสีฟัน

22. เครื่องซักผ้าไฟฟ้า

42. แบตเตอรี่แห้ง

3. ทองรูปพรรณ

23. เทปเพลง วีดีโอเทป

43. เตารีดไฟฟ้า

4. สีทาสำเร็จรูป

24. บุหรี่ซิกาแรต

44. แร่ใยหิน

5. ของเล่นสำหรับเด็ก

25. ปากกาลูกลื่น

45. ภาชนะพลาสติก

6. ยางรถยนต์

26. กรดฟอร์มิก

46. ลูกโป่งบรรจุก๊าซไฮโดรเจน

7. น้ำมันเอนกประสงค์

27. น้ำมันเกียร์และน้ำมันเครื่อง

47. กระดาษไขอัดสำเนา

8. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมหรือการบริโภคอาหาร

28. สีเทียน

48. ถุงมือยาง

9. ที่นอน

29. จาระบี

49. ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ

10. ภาชนะกระดาษที่ใช้กับอาหาร

30. หลอดฟลูออเรสเซนต์

50. ตู้เย็น

11. รถจักรยานยนต์

31. หลอดไฟฟ้า

51. ปืนอัดลมเบา

12. ภาชนะไม้ที่ใช้กับอาหาร

32. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ทำอาหาร

52. เครื่องปรับอากาศ

13. เครื่องทำน้ำเย็น

33. เต้าเสียบและเต้ารับไฟฟ้า

53. เครื่องรับวิทยุ

14. ภาชนะโลหะที่ใช้กับอาหาร

34. ภาชนะเซรามิก

54. ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิม

15. ผลิตภัณฑ์ช่วยในการพยุงตัวเด็ก

35. อัญมณีเจียระไน

55. เครื่องรับโทรทัศน์

16. แบตเตอรี่ชนิดกรด-ตะกั่ว

36. สายพานตัววี

56. รถยนต์ใช้แล้ว

17. น้ำมันสำหรับแบตเตอรี่

37. ขวดนม

57. ดอกไม้เพลิง

18. กระดาษสำหรับพิมพ์และเขียน

38. หัวนมยาง

58. อ่างอาบน้ำสำหรับเด็ก

19. อุปกรณ์เครื่องเล่นสนาม

39. หลอดฟลูออเรสเซนต์

59. เครื่องเล่นวีดิทัศน์

20. ภาชนะและเครื่องใช้เมลามีน

40. ผลิตภัณฑ์พลาสติก

60. วัสดุปรับปรุงดินหรือควบคุมความเจริญของพืช

(3) เนื้อหา

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 กำหนดห้ามมิให้เนื้อหาข้อมูลคอมพิวเตอร์มีข้อความหรือข้อมูลอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

• บิดเบือน ปลอม หรือเป็นเท็จ ซึ่งนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

• เป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

• เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

• มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ หรือ

• เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นให้แก่ผู้อื่น

(4) การแสดงราคา

ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2560 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ (ผู้ค้า) แสดงรายการดังต่อไปนี้

• ราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยให้แสดงราคาต่อหน่วย ราคาหรือค่าบริการนั้นจะมีตัวเลขภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย

• ข้อความหรือรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการต้องเป็นภาษาไทย แต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้

• หากมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือ ค่าบริการที่ให้บริการที่แสดงไว้ต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจน ครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ